เมนู

เปรียบดุจคนอดอาหาร ต้านทานอาหารไม่ได้ฉะนั้น เหตุฉะนี้แหละฆราวาสที่ได้พระอรหัตจึง
ต้องบรรพชาเสีย หรือนิพพานเสียในวันนั้น นะบพิตรพระราชสมภาร
อีกประการหนึ่งเล่า เปรียบอุปมาดุจกลุ่มหญ้าอันน้อยนักบุคคลจะเอาศิลาอันหนักทับลง
กลุ่มหญ้าอันน้อยมิอาจทนทานศิลานั้นได้
ประการหนึ่ง เปรียบดังบุคคลประกอบได้บุญอันน้อย ได้สมบัติอันเป็นอิสรภาพแล้ว
มิอาจปราบดาภิเษกครองราชสมบัติได้ ไม่คู่ควรที่จะครองราชสมบัติ ก็บังเกิดความฉิบหาย
อันตรายต่าง ๆ ถึงกับต้องประหารชีวิตทนเวทนาสาหัส จะโทษสมบัติว่า สมบัติร้อนพาให้อายุ
นั้นหรือประการใดเล่า ขอถวายพระพร
พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จะ
โทษเอาสมบัติว่าราชสมบัติร้อนหาชอบไม่เลย ฝ่ายผู้นั้นบุญน้อยไม่ควรที่จะเสวยจึงเป็นอันตราย
ฉิบหายต่าง ๆ จนถึงอาสัญ
พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ความนี้ฉันใดก็ดี อันว่าภูมิเพศฆราวาสนี้ต่ำช้า มิควรที่
จะครองพระบวรวิมุตติเศวตฉัตรได้ แม้สำเร็จพระอรหัตตัดกิเลสวันใดแล้ว ก็ควรบวชเข้าในบวช
พุทธศาสนาในกาลวันนั้น เหตุว่าเพศบรรพชิตนี้สมควรที่จะทรงซึ่งพระบวรวิมุตติเศวตฉัตรได้
พระบวรวิมุตติเศวตฉัตรคือพระอรหัตมรรคพระอรหัตผล เพศฆราวาสนั้นทุพพลมิอาจทรงได้
ขอถวายพระพร
ราชา ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทรราช ได้ทรงฟังโอวาทวิสัชนาก็ซ้องสาธุการ
ต่าง ๆ สรรเสริญพระนาคเสนว่าประกอบด้วยญาณปรีชา
คีหิอรหัตตปัญหา คำรบ 3 จบเพียงนี้

โลมกัสสปปัญหา ที่ 4


ราช อาห

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทรมหากษัตริย์มีพระราชโองการตรัสถามปัญหา
อื่นสืบไปเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้าอันประกอบด้วยวรปรีชา สมเด็จ
พระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ มีพระพุทธฎีกาว่าดังนี้ ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เมื่อ
ตถาคตยังขวนขวายสร้างพระบารมี พระบารมียังอ่อนอยู่นั้น ได้เสวยพระชาติเป็นมนุษย์เป็นอวิ-

เหธกชาติ มิได้เบียดเบียนฆ่าตีซึ่งสัตว์ทั้งหลาย ตกว่าพระพุทธฎีกาตรัสประภาษเป็นคำขาดฉะนี้
ก็เมื่อชาติเป็นดาบสมีนามปรากฏว่าพระโลมกัสสปดาบสนั้น ทำไมจึงฆ่าเสียซึ่งสัตว์เป็นอันมาก
ครั้งเมื่อได้นางจันทวดีนั้น ใช้คนทั้งหลายให้ฆ่าสัตว์เป็นอันมากบูชายัญ นี่แหละพระพุทธฎีกา
ของสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้ามิเป็นสองหรือ จะเชื่อเอาคำเดิม คำภายหลังก็จะผิด ครั้นจะเชื่อคำ
ภายหลัง คำเดิมก็จะผิด อยํ ปญฺโห ปริศนานี้ อุภโต โกฏิโก ประกอบความเป็นสองเงื่อนลึกล้ำ
คัมภีรภาพนักหนา นิมนต์ผู้เป็นเจ้าวิสัชนาให้สิ้นสงสัย ณ กาลบัดนี้.
พระนาคเสนผู้ปรีชาเฉลิมปราชญ์ จึงสนองพระราชโองการว่า มหาราช ขอถวายพระ
พรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อันพระพุทธฎีกาของสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจะเป็นสอง
หามิได้เลย ที่ว่าพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระโลมกัสสปดาบสได้ฆ่าสัตว์บูชายัญนั้น
บูชาด้วยอำนาจราคะรักใคร่หลงใหลในนางจันทวดี หาได้มีเจตนาอาฆาตคิดแกล้งฆ่าสัตว์ให้ตายไม่
พระเจ้ามิลินท์ปิ่นนราธิปไตย จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ
นาคเสนผู้ปรีชา อันว่าลักษณะที่บุคคลจะพึงฆ่าสัตว์นั้นมี 8 ประการ คือฆ่าด้วยสามารถราคะ
ประการ 1 ฆ่าด้วยสามารถโทสะประการ 1 ฆ่าด้วยสามารถโมหะประการ 1 ฆ่าด้วยสามารถ
มานะประการ 1 ฆ่าด้วยสามารถแห่งโลภะประการ 1 ฆ่าด้วยต้องการเลี้ยงชีวิตประการ 1 ฆ่า
ด้วยพาลไม่มีปัญญาพิจารณาเห็นซึ่งบาปบุญคุณและโทษประการ 1 ฆ่าด้วยสามารถแห่ง
วินัยประการ 1 เป็นลักษณะ 8 ประการด้วยกันดังนี้ ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา
พระบรมโพธิสัตว์ได้ฆ่าสัตว์กระทำการบูชายัญเป็นปกติอยู่มิใช่หรือ
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ พระบรม
โพธิสัตว์จะได้ฆ่าสัตว์ทำการบูชายัญเป็นปกติอยู่หามิได้ ถ้าพระองค์พึงน้อมใจไป
เป็นปกติด้วยไม่มีปัญญาไซร้ พระองค์จะไม่พึงกล่าวคาถานี้ไว้ว่า
สสมุทฺทปริยายํ มหึ สาครกุณฺฑลํ
น อิจฺเฉ สห นินฺทาย เอวํ เสยฺห วิชานาหิ
ดังนี้
กระแสความในคาถานี้ว่า บุคคลไม่พึงปรารถนาแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต มีสาคร
เป็นกุณฑล พร้อมด้วยนินทา ดูกรท่านเสยหะท่านพึงรู้ตามที่ได้กล่าวมานี้ มหาราช ดูรานะ
บพิตรผู้ประเสริฐ พระบรมโพธิสัตว์เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโลมกัสสปได้มีวาทะกล่าวไว้ดังนี้
แต่พอเห็นนางจันทวดีก็มีราคะบังเกิดร้อนรนป่วนปั่น มีความเข้าใจหมายผิดจิตฟุ้งซ่าน
รีบร้อนจัดการฆ่าสัตว์บูชายัญ เปรียบปานดังคนบ้า ยถา มหาราช ขอถวายพระพร ธรรม
ดาว่าคนเป็นบ้า ถึงมาตรว่ากองอัคคีจะลุกเป็นถ่านโพลงอยู่ก็ดี ก็อาจสามารถที่จะลุยย่ำเหยียบ

เข้าไปได้โดยไม่มีจิตจะคิดกลัว กุปฺปิตํ อาสีวิสํ ถึงแม้หากว่า ชาติอสรพิษจะกำเริบร้าย ก็ไม่รู้กลัว
จะรู้ว่าตัวจะตายวายชีวิตก็หามิได้ อาจจับตัวอสรพิษนั้นได้ไม่สะทกสะท้าน หตฺถึปิ มตฺตกํ
คชสารที่เมามัน บุคคลเป็นบ้าเสียอารมณ์นั้นก็อาจเข้าไปจับขับขี่ได้ สมุทฺทํ อตีรทสฺสึ ถึง
มหาสมุทรใหญ่แลไม่เห็นฝั่ง คนคลั่งเป็นบ้าก็อาจสามารถที่จะวิ่งลงไป จณฺฑานิกํป ถึงว่าสัตว์ที่
ร้ายเป็นต้นว่ากระบือเถื่อนเสือช้างแรดร้ายราวีเป็นต้น บุคคลเป็นบ้านั้น อาจสามารถที่จะเข้า
ไปจับได้ถึงตัว จะรู้จักกลัวหามิได้เป็นอันขาด อาจบุกรุกไม่รอรั้ง กณฺฑกํ อภิรูหติ ถึงมาตร
ว่าต้นไม้อันประกอบด้วยหนามก็บุกเข้าไปได้ ไม่นึกคร้ามว่าหนามจะยอก ปพฺพตาปิ ปตฺนติ
ภูเขาอันสูงเทียมเมฆา คนบ้าก็อาจสามารถที่จะโจนได้ อสุจึ ภกฺเขติ ไม่เกลียดอสุจิ อาจ
สามารถจะเอามาบริโภคได้ นคฺโค ไม่มีอายกายเปลือย รฏฺฐิยา จรติ เดินเที่ยวอยู่ตาม
ถนนในพระนคร ขอถวายพระพร อุมฺมตฺตโก ธรรมดาว่าบ้าแล้วย่อมกระทำเสียกิริยามากกว่า
ร้อย ความนี้แหละเปรียบฉันใดก็ดี พระโลมกัสสปฤๅษีนี้ เมื่อเห็นรูปโฉมนางจันทวดีคราวนั้นก็
ป่วนปั่น เป็นบ้าไป จึงฆ่าสัตว์บูชายัญเพราะเป็นบ้า มีครุวนาเหมือนว่ามานั้น มหาราช
ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร อุมฺมตฺตโก ธรรมดาว่าคนบ้าพิกลจริตจะกระทำความผิด
เป็นโทษหลวง ควรที่ผู้พิพากษาทั้งปวงจะปรึกษาให้มีอาญาโดยมากน้อยประการใด
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ
นาคเสนผู้ประกอบด้วยปรีชาญาณ คนบ้าพิกลจริตกระทำผิดเป็นโทษหลวง โทษจะถึงฆ่าเสียก็
มิให้ฆ่า ให้ตีบ้านั้นให้เข็ดแล้วให้ปล่อยไป
พระนาคเสนผู้เฉลิมปราชญ์จึงถวายพระพรว่า คนบ้ามิได้ปรึกษาลงอาญาโทษหลวงให้
มาก ยถา ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เสียจริตฆ่าชีวิตสัตว์ครั้งนั้น จะมีโทษมากหามิได้ สเตกิจฺโฉ
พอเยียวยาได้ ครั้นพระโพธิสัตว์เจ้าหายบ้า มีใจเป็นปกติได้สติคืนมา ปุนเทว ปพฺพชิตฺวา
กลับบวชใหม่จำเริญฌานสมาบัติไปก็ได้ซึ่งอภิญญา 5 ประการ พฺรหฺมโลกูปโค ครั้นสิ้นสังขาร
ถึงกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก นี่แหละบพิตรพระราชสมภาร พึงทราบพระญาณ
เถิดว่า ชาติที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าเกิดในโลกนั้น เป็นอวิเหธกชาติ มิได้กระทำปาณาติบาต
เบียดเบียนสัตว์ทุก ๆ ชาติ ตราบเท่าได้ตรัสสำเร็จแก่ปรมัตถะมิ่งมงกุฎเป็นองค์สัมมาสัมพุทธ-
เจ้า ก็มีในกาลนั้น
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีได้ทรงพระสวนาการพระนาคเสนแก้ปัญหาก็
ซ้องสาธุการ ทรงรับตามที่พระนาคเสนถวายวิสัชนานั้นทุกประการ
โลมกัสสปปัญหา คำรบ 4 จบเพียงนี้

ฉัททันตโชติปาลอารัพภปัญหา ที่ 5


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรจึงตรัสถามอรรถปัญหาอื่นสืบไปว่า ภนฺเต นาคเสน
ข้าแต่นาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระบรมศาสดามีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อพระตถาคตเสวยพระชาติเป็นพระยาคชสารชื่อว่าฉัททันต์นั้น ยังมีพรานคนหนึ่ง
เห็นพระยาฉัททันต์นั้นกับบริวารนมัสการพระสมณะนุ่งห่มกาสาวพัสตร์ โดยเคารพนับถือยิ่ง
นักหนา พรานป่านั้นจึงเอาผ้ากาสาวพัสตร์ย้อมฝาดนุ่งห่มเข้าแล้ว ก็ปลอมเป็นสมณะนั่งอยู่ที่ร่มไม้
ส่วนว่าหมู่ช้างบริวารกับพระยาฉัททันต์ก็อภิวันท์ไหว้พรานนั้น ด้วยสำคัญว่าเป็นสมณะ ยกงวง
จบแล้วพากันไป พรานนั้นจึงยิงช้างตัวหลังที่ล้า ๆ อยู่นั้น คราวละตัว ๆ จนบริวารพระยาฉัท-
ทันต์น้อยไป พระยาฉัททันต์ประกอบด้วยปัญญา จึงคิดคุมบริวารตามมาต่อภายหลัง ก็เห็น
นายพรานกระทำดังนั้น พระยาฉัททันต์จึงเอางวงฉวยจับพรานนั้นได้ คิดว่าจะฆ่าพรานนั้นให้
ตายแต่ได้เห็นกาสาวพัสตร์พันกายพรายอยู่ ก็มิได้ฆ่าพรานนั้นด้วยจิตสำคัญว่าผ้ากาสาวพัสตร์
เป็นธงชัยพระอรหันต์อันเลิศ สมเด็จพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐตรัสเทศนาฉะนี้แล้วมาภายหลัง
สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็นโชติปาล-
มาณพนั้น บริภาษกล่าววาจาหยาบช้าต่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำว่าสมณะ
ศีรษะโล้น นี่แหละ คำเดิมตรัสว่าเมื่อตถาคตเป็นพระโพธิสัตว์นี้ มีจิตเคารพกาสาวพัสตร์ คำ
ภายหลังตรัสว่ากล่าวคำหยาบช้าในพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทำไมสมเด็จพระกัสสปสัม-
มาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงกาสาวพัสตร์ธงชัยพระอรหัตหรือ พระโพธิสัตว์จึงไม่เคารพยำเกรงต่อผ้า
กาสาวพัสตร์ กลับบริภาษหยาบช้า นี่แหละจะถือเอาถ้อยคำภายหลัง คำเดิมจะผิดพลั้ง ครั้น
จะเชื่อคำเดิม คำภายหลังก็จะผิด หารู้ที่จะฟังเป็นเที่ยงไม่ ปัญหานี้จัดในอุภโตโกฏิเป็นสอง
เงื่อนเนื้อความต่างกัน นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาปัญหานี้ให้แจ้งก่อน
พระนาคเสนผู้ทรงอริยสังวรวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ตรัสว่า เมื่อครั้งตถาคตเป็นพระยาฉัททันต์ จิตนั้น
เคารพนบนอบในกาสาวพัสตร์ ครั้นแล้วพระองค์ตรัสว่า เมื่อตถาคตเป็นโชติปาลมาณพนั้น
บริภาษเป็นผรุสาวาทแก่สมเด็จพระพุทธกัสสปเจ้า ด้วยมุณฑกวาทะนั้นจริง แต่ทว่าเป็นด้วย
โชติปาลมาณพนั้นเกิดในสกุลเป็นมิจฉาทิฐิไม่มีศรัทธา มารดาบิดาพี่ป้าน้าอาตลอดถึงทาสกรรมกร
ทั้งหลาย ย่อมนัยถือพราหมณ์ว่าอุดมว่าประเสริฐ พากันติเตียนพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระกัสสปทศพลญาณว่าไม่ประเสริฐ เหมือนพราหมณ์ที่ตนนับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา
โชติปาลมาณพนั้น เป็นมิตรสหายกับช่างหม้อ ฝ่ายช่างหม้อเป็นสัมมาทิฐิ จึงชวนโชติปาล
มาณพว่า เราจะพาท่านไปสู่สำนักสมเด็จพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า โชติปาลมาณพจึงว่า